มีนบุรีกำลังจะเปลี่ยนแปลง

15

เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) และสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี – มีนบุรี)

เริ่มการก่อสร้างในปีพ.ศ.2560 – 2561 ตามลำดับ

เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบางทำเลเท่านั้น

โดยอาจจะเห็นได้ชัดเจนในทำเลที่ไม่ไกลจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ชุมชนเดิมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า หรือรอบๆ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง

โดยมีนบุรีเป็นอีกทำเลที่มีสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง แต่ที่อาจจะแตกต่างกับทำเลชานเมืองอื่นๆ คือ

ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 4 ที่ปรับเปลี่ยนรองรับการขยายตัวในอนาคต

โดยเพิ่มพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชยกรรมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นจากผังเมืองฉบับพ.ศ.2556 แม้ว่า FAR จะเท่ากับ 7 เช่นเดิมก็ตาม

แต่ก็เอื้อประโยชน์และส่งเสริมให้พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าตลาดมีนบุรี และมีนบุรีมีศักยภาพเพิ่มขึ้นแน่นอน

ซึ่งเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของเอกชนในพื้นที่บ้างแล้ว แต่ที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ

ราคาที่ดินที่ขยับขึ้นมารอแล้ว เพราะราคาที่ดินปัจจุบันในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าตลาดมีนบุรี และมีนบุรีขึ้นไปถึง 200,000 บาทต่อตารางวา

จากที่ประมาณ 100,000 บาทต่อตารางวาในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

ซึ่งแน่นอนว่าด้วยราคาที่ดินขนาดนี้จะต้องมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายมากขึ้นแน่นอนในอนาคต