31.8 C
Bangkok
Saturday, May 18, 2024

เรื่องของ EIA และปัญหาอื่นๆ

การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน นอกจากเรื่องของแบบก่อสร้างต้องถูกต้องตามข้อกำหนดผังเมืองในจังหวัดที่โครงการตั้งอยู่แล้ว ยังต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

และถ้าเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนยูนิตตั้งแต่ 80 ยูนิตขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป  หรือถ้าเป็นโครงการบ้านจัดสรรที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่

ต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเรื่องของ EIA ในปัจจุบันเป็นอีก 1 เรื่องที่มีปัญหาและสร้างผลกระทบทั้งในเรื่องของความล่าช้าในการทำงานของผู้ประกอบการ

และกลายเป็น 1 อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA โดยทั่วไปจะเป็นรายงานการศึกษาที่ครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้

1.        ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมี การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

2.        ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น

3.        คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน

4.        คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม

ซึ่งทั้ง 4 ด้านนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอีกทั้งยังสามารถพิจารณาได้หลายๆ แง่มุม ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการอนุมัติไปแล้วจะมีปัญหาในภายหลัง

เพราะคณะกรรมการที่พิจารณากับบริษัทที่ทำรายงาน ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจจะไม่เคยเจอหน้ากันหรือมีการสอบถามข้อเท็จจริงต่อกันเลย

อาจจะมีเพียงบริษัทที่ทำรายงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่อาจจะเคยเจอหน้ากัน

เพราะต้องมีการสอบถามและประชุมรวมไปถึงนำเสนอต่อประชาชนในชุมชนโดยรอบในกรณีที่โครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่มุมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปได้ด้วยดี

อาจจะมีส่วนน้อยที่มีปัญหา แต่สามารถจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ โดยที่ปัญหานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข

และเมื่อรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว ปัญหาที่เคยละเลยก็อาจจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก หรืออาจจะต้องถึงขั้นยกเลิกโครงการก็เป็นไปได้

เรื่องของปัญหาที่เกิดจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเรื่องของความล่าช้าเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลามากกว่า 6 – 8 เดือนขึ้นไปถึงมากกว่า 1 ปี

แต่เรื่องที่ส่วนใหญ่จะสร้างปัญหาให้กับโครงการคือเรื่องของผลกระทบที่อาจจะเกิดกับชุมชนหรือคนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายได้ยากจริงๆ ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาในเรื่องนี้มาโดยตลอด

แม้ว่ารายงาน EIA จะได้รับการอนุมัติแล้วก็ตาม ยังมีเรื่องมีราวถึงขั้นฟ้องศาลปกครองและศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนรายงาน EIA ก็มีมาแล้วหลายโครงการ โดยโครงการที่เคยเป็นข่าวเรื่องนี้ เช่น

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กับโครงการคอนโดมิเนียม ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งโครงการนี้ทางศุภาลัยยื่นขออนุญาตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 และมีการปรับแก้รูปแบบอาคาร และปรับลดระดับความสูงเพื่อให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการแนะนำเพื่อเป็นไปตามข้อเรียกร้องของชุมชนโดยรอบ แต่เมื่อรายงานได้รับการอนุมัติก็ยังโดนฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางและโดนคำสั่งเพิกถอนไป ทางศุภาลัยอาจจะมีการยื่นขออุทธร์ต่อไป และไม่รู้ว่าจะจบที่ตรงไหน

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กับโครงการแอชตัน อโศก เรื่องใหญ่ที่สุดและเป็นเรื่องที่จุดกระแส จุดประเด็นเรื่องของความถูกต้องในหลายๆ ด้านแบบชัดเจนที่สุด หลังจากที่ทั้งศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เป็นอีก 1 เรื่องที่ต้องติดตามต่อไป 

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กับโครงการเดอะไลน์ สาทร เป็นอีก 1 โครงการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2562 โดยสาเหตุเพราะการจัดทำรายงานอีไอเอของโครงการ เดอะไลน์ สาทร ที่ยื่นขอ EIA นั้น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด กระบวนการรับฟังความคิดเห็นผิดขั้นตอน

โรงแรมดิ เอทัส บางกอก ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ในซอยร่วมฤดี เป็นอีก 1 โครงการที่ได้รับคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2557 เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมาหนคร ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 – 2 ดำเนินการแก้ไขโครงการนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ที่ดินของโครงการนี้อยู่ในซอยร่วมฤดีวึ่งมีบางส่วนมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตรซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงมากกว่า 23 เมตรหรือประมาณ 7 – 8 ชั้นได้ แต่โครงการนี้มีความสูง 18 ชั้น และ 24 ชั้น นั่นหมายความว่าทั้ง 2 อาคารต้องรื้อถอนให้เหลือเพียง 8 ชั้น หรือไม่เกิน 23 เมตร แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการรื้อถอนเกิดขึ้นเลย

กรณีล่าสุด คือ เรื่องที่โครงการ 125 สาทร ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง คือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงหรือจะมีบทสรุปยังไงคงต้องติดตามต่อไปเช่นกัน

แค่ไม่กี่กรณีที่ยกตัวอย่างก็มีความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้กับคนจำนวนไม่น้อยแล้ว

นอกจากเรื่องของความขัดแย้งที่มีบทสรุปที่ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดแล้ว การคัดค้านจากชุมชนโดยรอบก็มีผลต่อขั้นตอนในการออกแบบโครงการรวมไปถึงมีผลต่อการพัฒนาโครงการได้เช่นกัน

บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับโครงการ ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมบนถนนเย็นอากาศที่โดนชุมชนโดยรอบยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ แม้ว่าทางอีสเทอร์นสตาร์จะมีการปรับลดขนาด และความสูงของอาคารลงมาเหลือไม่ถึง 8 ชั้น ลดจำนวนอาคาคารเหลือ 2 อาคาร และลดจำนวนยูนิตลงกว่า 30 ยูนิต แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ

เรื่องของความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว และจัดการได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่จำเป็น 

แต่ก็เป็นอีก 1 อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องยกเลิกการขายหรือการพัฒนาโครงการไปเลยเพราะมีปัญหาขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบ เช่น

พฤกษา เรียลเอสเตที่ยกเลิกการขายและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 2 โครงการในซอยทองหล่อ และซอยอารีย์

นอกจากนี้อาจจะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกที่ยกเลิกการขายโครงการไป หรือเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ รวมไปถึงเปลี่ยนประเภทของโครงการที่จะพัฒนาไปเลย แต่ไม่เป็นข่าว หรือเป็นคดีความฟ้องร้องกัน เพราะมีปัญหากับชุมชนข้างเคียง

ในต่างจังหวัดที่เป็นข่าวใหญ่ก็โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยาที่ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบตั้งแต่เรื่องของโฉนดที่ดิน รวมไปถึงการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่ได้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 ที่อาจจะไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีปัญหาเรื่องของการก่อสร้างผิดแบบจากที่ขออนุญาตก่อสร้างจนถูกระงับการก่อสร้าง 2 – 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2557 และต่อมาได้มีประกาศจากเมืองพัทยาให้รื้อถอนอาคารนี้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รื้อถอน

นี่ก็เฉพาะที่เป็นข่าว ยังมีบางโครงการที่ยกเลิกหรือเปลี่ยนแบบไปโดยไม่เป็นข่าว หรือไม่มีการแจ้งว่าเพราะเหตุใด

ปัญหาที่เกิดจากประท้วงหรือคัดค้านของชุมชนโดยรอบ หรือกลุ่มบุคคล สมาคมต่างๆ เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามานาน

ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่มีความเสียหายทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ ชุมชนโดยรอบ และหน่วยงานราชต่างๆ

ถ้ามีการจัดการปัญหาต่างๆ รวมไปถึงข้อขัดแย้ง และความไม่ถูกต้อง

ได้มีการจัดการและมีทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายก่อนที่จะมีการยื่นขออนุญาตขั้นตอนต่างๆ และก่อนเริ่มการก่อสร้าง

แต่บางครั้งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หรือปกปิด หรือไม่พูดถึงในขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่จะขออนุญาตก่อสร้าง

หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผู้ประกอบการเพิกเฉยจนเรื่องราวถึงขั้นต้องพึ่งการตัดสินของศาลปกครอง

เพราะผู้ประกอบการเลือกที่จะยื่นขออนุญาตขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตต่างๆ มาครอบครองไว้ก่อน

จากนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นก็อาจจะใช้ใบอนุญาตต่างๆ เป็นเกราะป้องกันหรือเป็นเครื่องมือในการแสดงออกว่าตนไม่ผิด

ถ้าทำผิดจริงทำไมหน่วยงานราชการต่างๆ หลายหน่วยงานออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับโครงการ

แม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลปกครองจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ ทั้งหมดแล้วก็ตาม  

Recent Articles

แสนสิริ ครองเจ้าตลาดบ้านและทาวน์โฮมทำเลราชพฤกษ์

แสนสิริ ผู้บุกตลาดทำเลราชพฤกษ์ ครอบคลุมยาวตลอดทั้งเส้น เล็งเห็นศัยภาพของทำเลทองดัชนีราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% จุดเชื่อมต่อผ่าน 3 พื้นที่สำคัญของประเทศไทย ราชพฤกษ์ตอนปลาย เชื่อมต่อจังหวัดปทุมธานี ราชพฤกษ์ตอนกลาง ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ราชพฤกษ์ตอนต้น เข้าสู่เขตติดต่อกรุงเทพฯและใจกลางเมืองย่าน CBD สาธร-สีลม

พรีบิลท์   ส่ง “พรรณนา ทวีวัฒนา” บ้านเดี่ยวหนึ่งเดียวในทวีวัฒนาที่มี  สระว่ายน้ำส่วนตัวสำหรับบ้านทุกหลัง

“พรีบิลท์ ส่งต่อความสำเร็จบ้านเดี่ยวระดับ Luxury แบรนด์  “พรรณนา”  ส่งต่อโครงการ “พรรณนา ทวีวัฒนา” ลงตลาดชูจุดเด่น “คุ้มค่า แตกต่าง เป็นส่วนตัว” “บ้านเดี่ยวหนึ่งเดียวในทวีวัฒนาที่มี สระว่ายน้ำส่วนตัวให้กับบ้านทุกหลัง บนที่ดินเริ่มต้น 100 ตร.ว.” เตรียมเปิดชม ครั้งแรก! ในวันที่ 25-26 พฤษภาคม...

ดิ ไอโคนิค พรอพเพอร์ตี้ ผนึก LPP เปิดตัว SOL MIDTOWN เพชรเกษม – สาทร

ดิ ไอโคนิค พรอพเพอร์ตี้ จับมือ แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ เปิดตัวโครงการ SOL MIDTOWN เพชรเกษม – สาทร ชูจุดขายทาวน์โฮมหรู ทําเลศักยภาพย่านธนบุรีเชื่อมต่อสาทร ภายใต้คอนเซปต์ “REAL RADIANT URBAN LIVING” มูลค่า...

ดร.ชนะ ภูมี นายก TCMA ประกาศเร่งเครื่องเดินหน้าโรดแมปซีเมนต์ไทย

“ดร.ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA ประกาศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘TCMA Synergizing the Actions toward Net Zero 2050’ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน พร้อมนำนวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) เชื่อมโยง Green Funds...

“Crystal Home” ย้ำแนวทาง Eco-Friendly ส่งต่อสุขภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“Crystal Home” ธุรกิจจัดจําหน่ายสินค้าตกแต่งห้องน้ำหรูและบริการครบวงจร ตอกย้ำการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อความยั่งยืน โดยอาศัยแนวคิด Luxury & Eco-Friendly Bathroom เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสความหรูหราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแบรนด์สุขภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ที่ประหยัดน้ำและเน้นใช้วัสดุรีไซเคิล อาทิ Villeroy & Boch, AXOR, Hansgrohe และแบรนด์สุขภัณฑ์ชั้นนำมากมายเข้าร่วม ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะให้ Crystal Home เป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงสู่ความหรูหรา...